วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จมูกปลาหลด ของดีธรรมชาติกินได้เป็นยา

คนรุ่นใหม่ น้อยคนนักจะรู้จักต้นจมูกปลาหลด แต่คนในยุคสมัยโบราณส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากจะมีขึ้นเองตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่า ตาป่าละเมาะข้างทาง ริมแม่น้ำลำคลอง และบริเวณที่มีน้ำขังทั่วไป ชาวบ้านในยุคสมัยนั้นนิยมเก็บเอายอดของต้นจมูกปลาหลดไปรับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ หรือ ลาบ ก้อย น้ำตก รสชาติอร่อยดีมาก ซึ่งนอกจากต้นจมูกปลาหลด จะมีประโยชน์รับประทานได้แล้ว บางส่วนจากต้นยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรอย่างดีอีกด้วย

โดยตำรายาแผนไทยระบุว่า ราก ใช้แก้โรคดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ใช้ต้มน้ำเดือดแล้วดื่ม ทั้งต้น ต้มน้ำกลั้วคอแก้เจ็บคอ และใช้ชำระล้างแผลทำให้แผลแห้งหายเร็วขึ้น ในประเทศอินเดีย จัน และอินโดนีเซีย นิยมใช้ต้นจมูกปลาหลด เป็นสมุนไพรมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วเช่นกัน โดยในประเทศไทยปรากฏในเอกสารและจารึกบนแผ่นศิลาที่ผนังวัดพระเชตุพนฯ และวัดราชโอรสอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ใช้ต้นจมูกปลาหลด ไปเข้ากับยาอื่นหลายชนิด เช่น ยาเขียวน้ำมูตร ยาเขียวมหาคงคา ยามหากระเพาะ และอื่น ๆ อีกมากมาย


จมูกปลาหลด หรือ OXYSTELMA SECAMONE (L) KARST. อยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยได้ไกลเกินกว่า 5 เมตร ยอดอ่อนมีขนเล็กน้อย และค่อนข้างเกลี้ยงเมื่อแก่ลำต้นมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีแคบและยาว ปลายเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว สีเขียวสด ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสดได้ตามที่กล่าวข้างต้น รสชาติมันปนเฝื่อนนิด ๆ


ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อที่ง่ามใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 3-4 ดอก บางครั้ง ช่อใหญ่มีได้ 6-9 ดอก ลักษณะดอกเป็นกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ปลายแหลม ดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ดูคล้ายดาว ริมขอบกลีบมีขน กลีบดอกเป็นสีชมพู มีแต้มเป็นเส้นสีม่วงเข้มบริเวณโคนกลีบดอก ใจกลางดอกเป็นสีเขียวอ่อน มีเกสรตัวผู้หลายอัน อันเรณูติดกันเป็นคู่จำนวน 5 คู่ ฝังอยู่ใจกลางดอก ปลายเส้นเกสรเป็นรูปห้าเหลี่ยมหุ้มเกสรตัวเมีย มีรังไข่ 2 ส่วน ปลายติดกัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก


ผล เป็นฝักโค้ง รูปไข่ เปลือกนิ่ม ภายในพองลมคล้ายพริกหยวก แต่จะนิ่มและบางกว่า มีเมล็ดจำนวนมากติดอยู่กับไส้กลางผล เมื่อผลแก่จะแตกต้านเดียว เมล็ดมีขนสีขาวคล้ายปุยนุ่นติดที่ปลายเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกช่วงฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกคือเครื่องไส้ปลาไหล (มหาสารคาม) ตะหมูกปลาไหล (ลพบุรี) ฝักไหม (เชียงใหม่) และ สะอึก (ภาคกลาง)


ความรู้เรื่องโรคดีซ่าน



โรคดีซ่าน (Jaundice หรือ Hyperbilirubinemia) คือ การที่ผู้ป่วยมีสารที่เรียกว่าบิลลิรูบิน (bilirubin) ในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ สารบิลลิรูบินเป็นสารที่ได้รับจากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดง (ปกติเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดจะมีอายุประมาณ 120 วัน) สารบิลลิรูบินที่เกิดขึ้นนี้มีสีเหลือง มันจะถูกกรองออกจากกระแสเลือดที่ตับและขับออกมากับน้ำดี (bile) น้ำดีจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็กส่วนต้นและขับออกจากร่างกายพร้อมกับอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีสีเหลือง


ในภาวะปกติน้ำดีจะถูกขับออกจากร่างกายตลอดเวลา หากสารบิลลิรูบินมีปริมาณในร่างกายมากเกินไปจะทำให้ร่างกายเป็นดีซ่านได้ สาเหตุหลักๆมีได้ 3 สาเหตุ คือ


ร่างกายสร้างสารบิลลิรูบินมากเกินไป มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือกแดงแตกผิดปกติ เช่นโรคทัลลัสซีเมีย (thallasemia), G6PD หรือการแตกของเม็ดเลือดแดงจากการติดเชื้อมาเลเรีย ร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถขับสารบิลลิรูบินออกจากร่างกายได้ทัน ทำให้มีการคั้งของสารภายในร่างกาย


ตับผิดปกติ ตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่กรองสารบิลลิรูบินออกจากร่างกาย เมื่อตับทำงานบกพร่อง เช่น โรคตับอักเสบ (จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือดื่มเหล้า) โรคฉี่หนู (leptospirosis) ติดเชื้อสครัป (scrub thyphus) เนื้องอกที่ตับ หรือตับแข็ง จะทำให้ตับไม่สามารถกรองสารบิลลิรูบินออกจากร่างกายได้


ทางเดินน้ำดีอุดตัน หากตับกรองสารบิลลิรูบินได้แต่ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถขับสารบิลลิรูบินออกจากร่างกายได้ สาเหตุของทางเดินน้ำดีอุดตันได้แก่ นิ่วในท่อน้ำดี มะเร็งชนิดต่างๆที่ไปกดท่อน้ำดี เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้เล็กส่วนต้น มะเร็งทางเดินน้ำดี และทางเดินน้ำดีอักเสบ


เมื่อมีสารบิลลิรูบินคั้งในร่างกาย สารนี้จะไปสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย จุดที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายๆได้แก่ ตาขาว ริมฝีปาก และผิวหนัง



เมื่อไปพบแพทย์


แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของดีซ่าน ซึ่งในขึ้นแรก แพทย์จะตรวจดูว่าท่านมีลักษณะอาการเหลืองจากดีซ่านเกิดขึ้นจริงหรือไม่โดยการตรวจดูความเหลืองที่ตาขาว ผู้ที่เป็นดีซ่านจริงจะมีตาขาวสีเหลือง ผิวหนังสีเหลืองและอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย ในผู้ที่มีผิวหนังสีเหลืองแต่ตาขาวไม่เหลืองก็พบได้ ซึ่งเกิดจากการมีสารแคโรทีนสะสมที่ผิวหนัง มักพบในผู้ที่รับประทานผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น แครอท มะละกอ หรือฟักทอง เป็นประจำ อาการเหลืองจากสารแคโรทีนนี้สามารถหายได้โดยการงดกินผลไม้ดังกล่าว


หลังจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์มักขอผู้ป่วยเจาะเลือดเพื่อแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการดีซ่าน เช่น ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) การทำงานของตับ (liver function test) และระดับของสารบิลลิรูบินในกระแสเลือด หากแพทย์สงสัยว่าอาการเหลืองอาจเกิดจากตับอักเสบ อาจส่งตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ (hepatitis) ร่วมด้วย


หากแพทย์คาดว่าอาการเหลืองที่เกิดขึ้นเกิดจากการอุดตันของทางเดินน้ำดี หรือเกิดจากเนื้องอก แพทย์จะส่งตรวจหาความผิดปกติทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจชนิดต่างๆมีความแตกต่างกันดังนี้


อัลตร้าซาวด์ สามารถตรวจคัดกรองการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีได้ด้วยความแม่นยำสูง ตรวจพบทางเดินน้ำดีที่ขยายตัวขึ้น หรือตรวจพบก้อนในตับได้ชัดเจน แต่อัลตร้าซาวด์มีความไวน้อยในการบอกสาเหตุว่าการอุดตันของทางเดินน้ำดีนั้นเกิดจากอะไร ต้องทำการตรวจต่อด้วย CT scan หรือ MRI


เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) สามารถตรวจพบการอุดตันของทางเดินน้ำดีและบอกสาเหตุของการอุดตันได้ชัดเจน เช่น นิ่วในทางเดินน้ำดี เนื้องอกที่ตับหรือตับอ่อน เนื้องอกของระบบทางเดินน้ำดี


เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สามารถตรวจพบการอุดตันของทางเดินน้ำดีและบอกสาเหตุของการอุดตันได้ชัดเจนเช่นเดียวกับ CT scan แต่ MRI มีข้อดีคือไม่ใช้รังสีร่วมในการตรวจ สามารถใช้ได้ในผู้ที่แพ้สารทึบรังสีชนิดที่ไม่ไอโอดีน (ใช้ในการฉีดร่วมกับการตรวจ CT scan) และ MRI สามารถสร้างภาพทางเดินน้ำดีแบบ 3 มิติ (MRCP) ได้ ซึ่งมีประโยชน์ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำดีได้โดยละเอียด


การตรวจทางเดินน้ำดีด้วยวิธีอื่นๆ ที่แพทย์อาจส่งตรวจและใช้ร่วมกับการรักษาได้แก่ การส่องกล้องเข้าทางลำไส้เล็กเพื่อตรวจดูท่อทางเดินน้ำดี (endoscopic retrograde cholangiopancreatography, ERCP) หรือการฉีดสารทึบรังสีเข้าระบบทางเดินน้ำดีโดยตรงผ่านทางตับ (percutaneous cholangiopancreatography, PTC)



การรักษา



แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุที่เป็น เช่น
1. หากเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกผิดปกติ แพทย์จะทำการรักษาเพื่อลดการแตกของเม็ดเลือดแดง ให้เลือดเพิ่มเติม ให้พักผ่อนมากๆ
2. หากเกิดจากตับทำงานผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ ดื่มเหล้า ตับแข็ง แพทย์จะรักษาเพื่อประคับประคองตับให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ ลดสาเหตุที่จะทำอันตรายต่อตับเพิ่มเติม
3.หากเกิดจากการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อนำนิ่วหรือเนื้องอกออกจากร่างกาย ใส่ท่อระบายทางเดินน้ำดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น